5 ข้อง่ายๆ ในการเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจคุณ
การหมั่นวิเคราะห์และวางแผนการใช้เงินสดหรือ “งบกระแสเงินสด” จะทำให้เรามีโอกาสเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต บทความนี้จะแนะนำเทคนิคการช่วยธุรกิจเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้โดยไม่สะดุด
1. การบริหารต้นทุน (Cost Management)
การบริหารต้นทุนจะทำให้ธุรกิจสามารถวางแผนการตลาดและการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแบ่งต้นทุนออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
-
ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือ ต้นทุนรวมที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามการผลิต หรือระดับกิจกรรมในช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งต้นทุนคงที่แบ่งได้อีก 2 ลักษณะคือ ต้นทุนคงที่ระยะยาว (Committed Fixed Cost) เช่น สัญญาเช่าระยะยาว ค่าเสื่อมราคา และ ต้นทุนคงที่ระยะสั้น (Discretionary Fixed Cost) เช่น ค่าโฆษณา
-
ต้นทุนผันแปรได้ (Variable Cost) คือ ต้นทุนที่ปรับเปลี่ยนไปตามสัดส่วนของกิจกรรม หรือปริมาณการผลิต โดยทั่วไปแล้วสามารถควบคุมได้โดยแผนกหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในกิจกรรมนั้นๆ
ตัวอย่างต้นทุน
ต้นทุนคงที่ |
ต้นทุนผันแปร |
ค่าเช่าโรงงาน |
ค่าวัตถุดิบ |
ค่าบำรุงรักษาอาคาร |
ค่าแรงงาน |
ค่าภาษีทรัพย์สิน |
ค่าไฟฟ้า |
ค่าเสื่อมราคา |
ค่าน้ำมัน |
ค่าดอกเบี้ยจ่าย |
ค่าคอมมิชชั่น |
จะเห็นได้ว่าต้นทุนแต่ละชนิดมีความหมายแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้ ให้พิจารณาต้นทุนที่สามารถประหยัดได้ หรือหลีกเลี่ยงได้ โดยต้องไม่กระทบกับคุณภาพของสินค้า สิ่งสำคัญคือ ต้นทุนควรมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะและสภาพตลาดในปัจจุบัน
2. การบริหารจัดการเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable)
การบริหารเจ้าหนี้การค้าไม่ใช่การต่อรองขอไม่ชำระหนี้แต่คือการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้น ซึ่งยอดชำระหนี้ที่จะขอพิจารณาในแต่ละเดือนควรมีความสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ทั้งนี้ควรบริหารความสัมพันธ์และคำนึงถึงผลกระทบกับเจ้าหนี้การค้า
3. การบริหารลูกหนี้การค้า (Account Receivable)
กำหนดระยะเวลาการชำระค่าสินค้าและบริการของลูกค้า (Credit Term) ให้สอดคล้องกับกำหนดการชำระค่าใช้จ่ายของบริษัท หรือที่เราเรียกกันว่า การหมุนเงิน
4. การปรับกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy)
หัวใจสำคัญของธุรกิจคือการมี สินค้า (Product) หรือ บริการ (Service) ที่เป็นที่ “ต้องการ (Need)” ของผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าการตลาดที่ทำอยู่ปัจจุบันยังตอบโจทย์อยู่หรือเปล่า เช็คดูว่า
-
กลุ่มเป้าหมายของสินค้ายังเป็นกลุ่มเดิมหรือไม่
-
การสื่อสารยังไปถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่หรือไม่
-
จุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของสินค้ายังตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอยู่ใช้ไหม
-
การแข่งขันและการครองส่วนแบ่งการตลาดในระยะสั้น ระยะยาว ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
-
ทบทวนการตั้งราคาขายว่ายังเหมาะสมอยู่หรือไม่ เพราะราคาคือส่วนสำคัญที่จะสร้างกำไรให้กับธุรกิจ
-
“ช่องทางการขาย” ที่ใช้อยู่ยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ นอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว หลายบริษัทกำลังสร้าง Omnichannel เป็นมาตรฐานใหม่อยู่ แล้วธุรกิจเราล่ะ มีอะไรที่ต้องปรับมั้ย
-
จัดโปรโมชันให้สอดคล้องกับการตลาดตามเทศกาลและฤดูกาล เพื่อกระตุ้นยอดขายในระยะสั้น
5. การจัดหาแหล่งเงินทุน (Financing)
เตรียมตัวให้พร้อมเสมอในการขอสินเชื่อเพราะเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องการจริงๆ คุณจะได้ไม่เสียเวลา ปัจจุบันแหล่งเงินทุนมีให้เลือกหลากหลาย อาทิเช่น คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding), ธนาคารพาณิชย์, บริษัทผู้รับซื้อลูกหนี้ หรือที่เรียกว่า บริษัทแฟคเตอร์ เป็นต้น ลองพิจารณาเงื่อนไขและดูว่าแหล่งเงินทุนแบบไหนเหมาะกับธุรกิจของคุณ อ่านต่อบทความ ปลดล็อกศักยภาพ SME ไทย กับ 5 แหล่งเงินทุนทางเลือก
การวางแผนการบริหารสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเตรียมตัวให้พร้อมในการแก้ปัญหาอาจสำคัญกว่า เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางช่วยในการเตรียมตัวให้ธุรกิจ SME ของคุณพร้อมเสมอเมื่อเจอปัญหาสภาพคล่อง
อย่าลืม! SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน Funding Portal ของอินเวสทรี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ง่ายๆ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่