Invoice Factoring กับ Invoice Financing ต่างกันอย่างไร?
หนึ่งปัจจัยที่ทำให้ SME ขาดสภาพคล่องคือการถูกยืดการชำระสินเชื่อการค้า หรือ เครดิตเทอม (Credit Term) จากลูกหนี้การค้า เพราะเมื่อสินค้าหรือบริการที่ขายไปแล้วยังไม่ได้รับเงิน การซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าครั้งใหม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนที่มีไปก่อน ซึ่งก็หมายถึงความเสี่ยงที่ SME เองก็อาจมีโอกาสผิดนัดชำระเจ้าหนี้ของตน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อไปอีกเป็นวงกว้าง
ผลสำรวจของผู้ประกอบการ SME โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี 2020 พบว่า 96% ของการทำธุรกิจของไทยในรูปแบบ B2B มีการให้เครดิตเทอมแก่คู่ค้าที่ซื้อขายสินค้าและบริการร่วมกัน ดังนั้น เครดิตเทอม จึงมีผลโดยตรงต่อสภาพคล่องรวมถึงการบริหารจัดการวงจรเงินสดของธุรกิจ เพื่อป้องกัน ไม่ให้ธุรกิจสะดุด SME จำเป็นต้องหาแนวทางให้ลูกหนี้การค้าชำระค่าสินค้าและบริการตามกำหนดเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเตรียมตัวในกรณีที่ถูกผิดนัดชำระ
วันนี้ เราจะมาแนะนำ Invoice Factoring และ Invoice Financing ตัวช่วยในการเปลี่ยนใบแจ้งหนี้ให้เป็นเงินสด เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ
Invoice Factoring คืออะไร?
Invoice Factoring หรือที่เรียกว่า “บริการรับซื้อหนี้การค้า” คือการขอสินเชื่อโดยการขายใบแจ้งหนี้ (Invoice) ให้กับผู้ให้บริการ Factoring หรือที่รู้จักในนาม Factor
- เจ้าของธุรกิจ (SME) ออกใบแจ้งหนี้ให้กับบริษัทผู้ซื้อสินค้า เพื่อเรียกเก็บเงิน หลังจากส่งมอบสินค้าเสร็จเรียบร้อย
- เจ้าของธุรกิจ (SME) นำใบแจ้งหนี้ไปขอสินเชื่อกับ Factor พิจารณา หากผ่านการพิจารณา เจ้าของธุรกิจ (SME) จะดำเนินการแจ้งโอนสิทธิ์การเป็นผู้รับเงินให้กับ Factor และเมื่อได้รับสิทธิ์การเป็นผู้รับเงินเรียบร้อยแล้ว เจ้าของธุรกิจจะได้รับเงินจาก Factor
- บริษัทผู้ซื้อสินค้า จ่ายเงิน ให้กับ Factor เมื่อครบกำหนดชำระ (Credit term)
Invoice Financing คืออะไร?
Invoice Financing คือการใช้ใบแจ้งหนี้ (Invoice) ยื่นประกอบการพิจารณาขอเงินทุนหมุนเวียนจากลูกหนี้การค้ากับ Funding Portal หรือคราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์ม (Crowdfunding Platform) หรือเข้าใจง่ายๆ คือ เปลี่ยนใบแจ้งหนี้เป็นเงินสด โดย
- เจ้าของธุรกิจ (SME) ออกใบแจ้งหนี้ให้กับบริษัทผู้ซื้อสินค้า เพื่อเรียกเก็บเงิน หลังจากส่งมอบสินค้าเสร็จเรียบร้อย
- เจ้าของธุรกิจ (SME) ลงทะเบียนกับ Funding Portal เพื่อขอระดมทุนออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงโดยใช้ใบแจ้งหนี้ เป็นเอกสารหลักในการขอพิจารณา
- Funding Portal ทำหน้าที่คัดกรองบริษัท ประเมินความเสี่ยง หากผ่านการพิจารณา Funding Portal จะยื่นข้อเสนอในการระดมทุนออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงให้กับเจ้าของธุรกิจ (SME)
- เมื่อเจ้าของธุรกิจ (SME) ตกลงในข้อกำหนดและเงื่อนไขการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง Funding Portal จะเปิดระดมทุนแก่นักลงทุน
- เมื่อระดมทุนได้ตามเป้าหมาย Funding Portal จะปิดการระดมทุน และโอนเงินให้บริษัทผู้ขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง
- เจ้าของธุรกิจ (SME) หรือบริษัทผู้ขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจะชำระคืนค่าหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนเมื่อครบกำหนด
Invoice Factoring กับ Invoice Financing เหมาะกับใคร?
เหมาะกับบริษัท SME หรือ Start up ที่ต้องการความรวดเร็วในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ และ มีลูกหนี้การค้าเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ มีความมั่นคง
เนื่องจากการเข้าถึงสินเชื่อธนาคารอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับ SME แหล่งเงินทุนในรูปแบบของ Invoice Factoring กับ Invoice Financing จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญและเป็นทางเลือกให้บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น