ทำความเข้าใจ ภัยธรรมชาติส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าเดือนกันยายน 2023 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ +1.4 องศาเซลเซียส และสูงกว่าสถิติเดิมในเดือนกันยายนในปี 2020 กว่า +0.5 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออกสูงขึ้น ส่งผลให้กระแสลมพัดจากตะวันออกไปตะวันตกน้อยลง และทำให้ฝนตกน้อยลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและไฟป่า ทำให้ฝนตกมากขึ้นในอเมริกาใต้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและปัญหาดินถล่มในภูมิภาคนี้ สถิติอุณหภูมิโลกใหม่ในเดือนกันยายน 2023 ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงนี้กำลังส่งผลกระทบต่อโลกของเราในรูปแบบของภัยธรรมชาติ
ที่มา National Oceanic and Atmospheric Administration U.S. Department of Commerce
บทความนี้จะมาอธิบายถึงผลกระทบของภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุน โดยยกตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการลงทุนและสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้
ภัยธรรมชาติ คืออะไร
ภัยธรรมชาติ คือ ภัยอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมีผลกระทบต่อชีวิต ความอยู่รอด ของมนุษย์ ภัยธรรมชาติมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไป บางอย่างร้ายแรงน้อย บางอย่างร้ายแรงมาก ซึ่งอาจสร้างผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น อุทกภัย หรือน้ำท่วม การเกิดพายุ การเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม ฯลฯ
ภัยธรรมชาติสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- ภัยธรรมชาติทางกายภาพ ส่วนใหญ่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุหมุน ภัยแล้ง หรือ ไฟป่า เป็นต้น
- ภัยธรรมชาติทางชีวภาพ ส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น โรคระบาด หรือ แมลงศัตรูพืช เป็นต้น
ภัยธรรมชาติ เกิดขึ้นได้อย่างไร
- ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ มากมาย ขึ้นอยู่กับประเภทของภัยธรรมชาตินั้นๆ เช่น
- แผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก
- ภูเขาไฟระเบิด เกิดจากการสะสมของก๊าซและหินหนืดใต้พื้นดิน
- พายุหมุนเขตร้อน เกิดจากการหมุนวนของอากาศร้อนชื้น
- ภัยแล้ง เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยเกินไป
นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว การกระทำหรือกิจกรรมของมนุษย์ก็มีส่วนทำให้เกิดภัยธรรมชาติได้เช่นกัน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดินถล่มได้ง่ายขึ้น การก่อสร้าง อาจทำให้เกิดการกัดเซาะของดินและน้ำ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ภัยธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ผลกระทบของภัยธรรมชาติอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน การเตรียมพร้อมของประชาชน ฯลฯ
ภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับ เศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างไร
ภัยธรรมชาติสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก
ผลกระทบเชิงลบของภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่
1. ความสูญเสียทางกายภาพ
ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ ไฟป่า ฯลฯ สามารถสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจได้ ส่งผลให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ซึ่งอาจทำให้ผลประกอบการของธุรกิจลดลงหรือขาดทุนได้
2. ความล่าช้าของโครงการ
ภัยธรรมชาติอาจทำให้โครงการก่อสร้างหรือพัฒนาต่างๆ ล่าช้าหรือหยุดชะงักได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
3. ความผันผวนของตลาด
ภัยธรรมชาติอาจทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินได้ เนื่องจากนักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ
ผลกระทบเชิงบวกของภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่
1. โอกาสในการฟื้นฟู
ภัยธรรมชาติอาจสร้างโอกาสในการฟื้นฟูและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจหรือพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจทำให้มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น
2. ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติอาจทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ป้องกันภัยพิบัติ ฯลฯ ซึ่งอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ผลกระทบของภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุนจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของภัยธรรมชาติ ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยหากภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในบริเวณที่มีการลงทุนหนาแน่น หรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในวงกว้างได้ ตัวอย่างเช่น
เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในออสเตรเลีย
เมื่อปี 2019–2020 เกิดจากสภาวะอากาศที่ร้อนรุนแรงจากเอลนีโญ ส่งผลให้ไฟไหม้ป่าลุกลามทั่วประเทศ มีการจ่ายไฟฟ้ามากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะ Blackouts ครัวเรือนกว่า 2 แสนคนในรัฐ Victoria ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่นานหลายครั้งและนานหลายชั่วโมง นํ้าประปาไม่สามารถจ่ายให้ประชาชนได้ เหตุการณ์ไฟไหม้ป่ายังทำให้ GDP ของประเทศลดลง 0.2% และสร้างความเสียหายมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ความร้อนจากเอลนีโญ ได้ผลักดันให้ภาคส่วนพลังงานให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น หลังจากภาวะ Blackouts ในรัฐ Victoria รัฐบาลออสเตรเลียตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม ในการผลิตไฟฟ้าครึ่งนึงภายในปี 2030
ในปี 2022 รัฐบาลอัดฉีดเงินลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนของพลังงานทำให้เทรนด์การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเริ่มปรากฎให้เห็นมากขึ้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนควรจับตามอง
ภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ณ ปัจจุบัน
ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้อากาศทั่วโลกแปรปรวน สำหรับประเทศไทยเอง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้รายงานว่าปริมาณฝนสะสมปี 2566 ช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 6 ก.ค. 2023 ของทั้งประเทศมีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 40% โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้คาดการณ์ถึงผลผลิตข้าวของปีนี้ไว้ว่าผลผลิตข้าวจะลดลงจากปีการผลิตที่แล้วประมาณ 2 ล้านตัน หรือ -6% สาเหตุมาจากฝนที่น้อย ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงและความถี่ที่น้อยลงในการปลูกข้าวในบางพื้นที่ ปัจจุบัน เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม หรือ AgriTech กำลังเป็นที่น่าสนใจเพราะนอกจากความสามารถในการช่วยวางแผน บริหารจัดการ ควบคุมและดูแลผลผลิตทางการเกษตร ยังมีการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น กลุ่ม PTT CP หรือ มิตรผล ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับภาคการเกษตรถึงแม้จะมีความท้าทายทางด้านการเข้าถึงของเกษตกรสู่นวัตกรรมและเครื่องมือเหล่านี้ก็ตาม
นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบของภัยธรรมชาติต่างๆอย่างไร
1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติต่างๆ เพื่อเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจและการลงทุน เช่น ผลกระทบจากสภาพอากาศต่อการผลิต อุปสงค์และอุปทาน ฯลฯ (demand and supply)
ตัวอย่างของอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่อาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญและภัยธรรมชาติ ได้แก่
- อุตสาหกรรมการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรอาจลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอาจลดลง ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง
- อุตสาหกรรมการก่อสร้าง การก่อสร้างอาจล่าช้าหรือหยุดชะงัก ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น
2. กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว การก่อสร้าง ฯลฯ และพิจารณาลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน หรือลงทุนในบริษัทที่ดำเนินกิจการด้วยแนวคิด ESG ที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance) ในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ และมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ก็สามารถช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน (อ่านต่อ บทความ: ESG อนาคตของการลงทุน การลงทุนเพื่ออนาคต) โดยข้อมูลจาก Deloitte พบว่า ESG กลายเป็นหนึ่งในเทรนด์การลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และคาดว่าภายในปี 2024 สินทรัพย์ทั่วโลกที่ได้รับการบริหารจัดการกว่าครึ่งนึงจะเป็นสินทรัพย์ที่บริหารตามหลัก ESG รวมเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์
3. ติดตามข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที
หากคุณเป็นนักลงทุนที่มองหาการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง หุ้นกู้คราวฟันดิงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ (อ่านต่อ บทความ: หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง คืออะไร สรุปสาระสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ก่อนลงทุน) อย่างไรก็ดีการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และเข้าใจความเสี่ยงในทุกมิติ ของการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน