4 วิธีออมเงินง่ายๆ ที่คุณควรรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
การบริหารเงินที่ดี คือการที่เราสามารถบริหารรายจ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ และถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นคือการเก็บเงินให้มีเหลือไว้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือ สถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการมีเงินเหลือไว้ใช้หลังเกษียณ บทความนี้จึงอยากแนะนำวิธีออมเงินง่ายๆ ที่ควรรู้และเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน
1. เริ่มต้นเก็บเงินด้วยการวางเป้าหมายการเงิน ตามหลักการ S-M-A-R-T
-
S ย่อมาจาก Specific หมายถึง การกำหนดเป้าหมายของการออมเงินที่ชัดเจน เช่น เก็บเงินเพื่อผ่อนคอนโด
-
M ย่อมาจาก Measurable หมายถึง เป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ เช่น เก็บเงินเพื่อผ่อนคอนโดราคา 1 ล้านบาท
-
A ย่อมาจาก Achievable หมายถึง เป้าหมายที่สามารถบรรลุได้จริง เช่น ผ่อนคอนโดโดยการเก็บออมเงิน 10% ของเงินเดือน
-
R ย่อมาจาก Realistic หมายถึง เป้าหมายที่สามารถเป็นจริงได้ เช่น การออมสามารถทำได้เนื่องจากมีเงินเดือนจากงานประจำและงานที่ทำก็มีความมั่นคง
-
T ย่อมาจาก Timely หมายถึง เป้าหมายนั้นมีระยะเวลาที่ชัดเจนเช่น สามารถเก็บเงินทุกเดือนและภายในระยะเวลา 5 ปี ก็สามารถเป็นเจ้าของคอนโดได้
2. บริหารรายรับและรายจ่ายให้มีความสอดคล้องกับการออมเงิน
การบริหารเงินที่ดีจะทำให้เราสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงภาระหนี้สินให้อยู่ภายในรายรับหรือเงินที่เรามี และสามารถมีเงินเหลือเพื่อออมตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เมื่อไหร่ที่เรารู้ว่าเราจะมีรายจ่ายที่มากกว่ารายรับ หรือไม่สามารถออมได้ตามเป้าเราไม่ควรรอช้าและเริ่มวางแผนลงมือ
-
มองหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ เช่น การหางานเสริมนอกเหนือจากงานประจำ
-
เพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง เพื่อเป็นใบเบิกทางในการเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือน
-
พิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ยกเลิกค่าสมาชิกบริการบางอย่างที่ไม่จำเป็น
3. หาวิธีทำให้เงินออมที่มีอยู่งอกเงย
เช็คอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินออมที่มีอยู่ในธนาคารว่าปัจจุบันได้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่เท่าไหร่ และลองเปรียบเทียบกับบัญชีเงินฝากประเภทอื่นดูว่าเราเก็บเงินไว้ในที่ๆ จะทำให้เงินออมงอกเงยได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ลองศึกษาบัญชีเงินฝากต่างๆ ซึ่งหลักๆ มีดังนี้
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Savings Account) คือ บัญชีที่สามารถฝากหรือถอนได้ตลอดเวลา จะให้ผลตอบแทนคงที่ในรูปแบบของดอกเบี้ย โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยตามข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร
ข้อดี: มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนเงินสดได้ตลอดเวลา
ข้อเสีย: บัญชีฝากออมทรัพย์มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่นๆ และมีค่ารักษาบัญชีเมื่อหักลบแล้วอาจไม่คุ้มกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้
บัญชีเงินฝากประจำ (fixed deposit account) คือ บัญชีเงินฝากที่มีการกำหนดระยะเวลาฝาก และถอนไว้ และมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยสามารถถอนเงินได้เมื่อครบกำหนด
ข้อดี: มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
ข้อเสีย: สามารถถอนเงินได้เมื่อครบกำหนดเท่านั้น หากถอนก่อนครบกำหนดจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้
อัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากประจำ
(ข้อมูลอัตราดอกเบี้ย ณ เดือนมีนาคมปี 2566 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย)
ธนาคาร | อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ต่อปี) | อัตราดอกเบี้ยฝากประจำ (ต่อปี) | |
ฝากประจำ 6 เดือน | ฝากประจำ 24 เดือน | ||
กรุงเทพ | 0.5 | 0.85 | 1.15 |
กสิกร | 0.25 | 0.80 | 1.15 |
ไทยพาณิชย์ | 0.25 | 0.85 | 1.15 |
กรุงไทย | 0.25 | 0.85 | 1.15 |
กรุงศรีอยุธยา | 0.25 | 0.85 | 1.20 |
4. พิจารณาการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าบัญชีเงินฝากธนาคาร
ปัจจุบันทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการเปิดบัญชีเงินฝากมีอยู่หลายทาง อาทิเช่น
ประเภทการลงทุน | คืออะไร |
หุ้น (Stock) | การซื้อหุ้นของบริษัทโดยหวังโอกาสในการรับส่วนแบ่งจากกำไรของบริษัท (เงินปันผล) และส่วนต่างราคาหุ้นที่ขึ้นลงในตลาดหุ้น |
กองทุนรวม (Mutual Fund) | การลงทุนในกองทุน โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่วิเคราะห์และรับผิดชอบในการเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนรวม |
หุ้นกู้ (Corporate Bonds) | การลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัท โดยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และ ระยะเวลาการกู้ยืมที่ชัดเจน |
หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Debt Crowdfunding Notes) | การลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัท SME โดยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และ ระยะเวลาการกู้ยืมที่ชัดเจน |
หุ้นคราวด์ฟันดิง (Equity Crowdfunding Notes) | การลงทุนในบริษัท SME โดยผู้ถือหุ้นมีสิทธิในบริษัทตามสัดส่วนและประเภทของหุ้น |
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) | การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum และอื่นๆ โดยหวังส่วนต่างราคาที่ขึ้นลงในตลาดคริปโต |
การลงทุนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ก่อนลงทุน ควรศึกษาข้อมูลของการลงทุนนั้นๆ เช่น ระยะเวลาการลงทุน, อัตราผลตอบแทน, ความเสี่ยง, และต้นทุน เพราะไม่มีการลงทุนชนิดไหนที่สามารถการันตีผลตอบแทนได้