จะทำอย่างไร เมื่อหุ้นกู้ที่ลงทุนผิดนัดชำระ
ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้ คือการที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ตามวันเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนในฐานะเจ้าหนี้ สูญเสียเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วนหรือทั้งหมด จากตัวอย่างหุ้นกู้ผิดนัดชำระที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น
- หุ้นกู้ของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) ผิดนัดชำระหุ้นกู้จำนวน 7 ชุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 คิดเป็นมูลค่า 2.4 พันล้านบาท
- หุ้นกู้ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ผิดนัดชำระหุ้นกู้จำนวน 5 ชุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 คิดเป็นมูลค่า 9.2 พันล้านบาท
- หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย (JKN) ผิดนัดชำระหุ้นกู้จำนวน 1 ชุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 คิดเป็นมูลค่า 452 ล้านบาท
บทความนี้จะมาอธิบายขั้นตอนสำคัญที่นักลงทุนควรปฎิบัติเมื่อเจอเหตุการณ์หุ้นกู้ที่ซื้อไว้ผิดนัดชำระ พร้อมวิธีบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ในการลงทุนหุ้นกู้เพื่อให้ผลกระทบจากการผิดนัดชำระเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด
วิธีปฏิบัติเมื่อหุ้นกู้ที่ซื้อไว้ผิดนัดชำระ
1. ตรวจสอบข้อกำหนดของหุ้นกู้
นักลงทุนควรตรวจสอบข้อกำหนดของหุ้นกู้ดังต่อไปนี้
- ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการชำระหนี้ และหลักประกัน
- ข้อมูลลำดับการชำระหนี้ เพื่อทราบถึงลำดับที่นักลงทุนจะได้รับการชำระหนี้คืนในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย อาทิเช่น
- หุ้นกู้มีประกัน คือ หุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสินทรัพย์หลักประกันเหนือเจ้าหนี้รายอื่น
- หุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันในการชำระหนี้คืน โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้เท่ากับเจ้าหนี้สามัญทั่วไป
- หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันในการชำระหนี้คืนและผู้ถือมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้สามัญ แต่จะมีสิทธิ์สูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์และหุ้นสามัญในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก
- หุ้นสามัญ คือ ผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบได้กับเจ้าของกิจการมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นลำดับสุดท้าย
นักลงทุนสามารถค้นหา ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ และ ข้อมูลลำดับการชำระหนี้รวมถึงข้อมูลอื่นๆของหุ้นกู้ได้จากทางแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือ เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต
2. ติดตามข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond หรือ Debenture Holder Representative) เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ควรติดตามข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อย่างใกล้ชิดเพื่อทราบถึงการดำเนินการต่างๆ ที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กำลังดำเนินการ
โดยหน้าที่หลักของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบไปด้วย
- ประสานงานกับผู้ออกหุ้นกู้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะประสานงานกับผู้ออกหุ้นกู้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ โดยอาจหารือแนวทางการแก้ไขหนี้ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้ หรือขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินหรือหน่วยงานรัฐ
- เรียกร้องให้ชำระหนี้
ในกรณีที่การเจรจากับผู้ออกหุ้นกู้ไม่เป็นผล ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะทำการเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โดยอาจส่งหนังสือทวงถามหรือดำเนินการฟ้องร้องคดี
- บังคับหลักประกัน
ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้มีหลักประกัน เช่น สินทรัพย์หรือเงินสด ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจดำเนินการบังคับหลักประกันเพื่อนำเงินมาใช้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้
- ดำเนินคดีกับผู้ออกหุ้นกู้
ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจดำเนินคดีกับผู้ออกหุ้นกู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้
โดยชื่อของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะระบุอยู่ใน factsheet ซึ่งนักลงทุนสามารถค้นหาได้จากทางแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือ เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต
ในกรณีของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง อินเวสทรีจะเป็นตัวกลาง (Funding Portal) ในการประสานงานติดต่อตัวแทนผู้ถือหุ้น เพื่อนัดประชุม เรียกร้องการชำระหนี้กับผู้ออกหุ้นกู้ และคัดเลือกผู้มาดำเนินคดีในกรณีผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตามมติการประชุมผู้ถือหุ้นกู้
3. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นกู้
ผู้ถือหุ้นกู้ควรเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่จัดขึ้นโดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้ทราบถึงการดำเนินการต่างๆที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กำลังดำเนินการ ทั้งนี้ ควรศึกษาเอกสารการประชุมอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงมติเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ให้มากที่สุด
4. พิจารณาดำเนินการฟ้องร้องผู้ออกหุ้นกู้
ในกรณีที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ ผู้ถือหุ้นกู้อาจพิจารณาดำเนินการฟ้องร้องผู้ออกหุ้นกู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายด้วยตัวเอง
ถึงแม้ว่านักลงทุนจะไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหุ้นกู้ได้ แต่นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงได้ในระดับนึงโดยใช้ข้อปฎิบัติต่อไปนี้
วิธีการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้
1. ศึกษาข้อมูลเชิงลึกและประเมินความเสี่ยง
ทำความเข้าใจหุ้นกู้ที่ลงทุนพร้อมกับศึกษาข้อมูลของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อย่างละเอียด เช่น
- ข้อมูลบริษัท
- สถานะทางการเงิน
- งบกระแสเงินสด
- ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร
- ประเภทของหุ้นกู้
- อัตราดอกเบี้ย
- สภาพเศรษฐกิจ
นอกจากนี้นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ เพื่อลงทุนในหุ้นกู้ที่เหมาะสม เช่นหากลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงก็จะตามมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย (High Risk High Return)
2. ทำความเข้าใจเครดิตเรทติ้ง
เครดิตเรทติ้ง (Credit Rating) คือ การประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) จะมี 2 แบบคือ เครดิตเรทติ้งผู้ออกหุ้นกู้ และ เครดิตเรทติ้งหุ้นกู้
- เครดิตเรทติ้งผู้ออกหุ้นกู้
เป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือด้านเครดิตโดยรวมของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เช่น ลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท ผลประกอบการ รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
- เครดิตเรทติ้งหุ้นกู้
เป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่าย โดยพิจารณาจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นกู้ เช่น ลำดับสิทธิเรียกร้องในการชำระหนี้ของหุ้นกู้ตามลักษณะ เครดิตเรทติ้งหุ้นกู้จะสะท้อนความเสี่ยงการผิดนัดชำระได้ชัดเจนกว่าเครดิตเรทติ้งผู้ออกหุ้นกู้เนื่องจากพิจารณาจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นกู้เพิ่มเติมขึ้นจากเครดิตเรทติ้งบริษัท
เครดิตเรทติ้งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อสะท้อนถึงปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ผลการดำเนินงานของบริษัท แนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัท
3. การกระจายความเสี่ยง
การลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นนักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงด้วยการแบ่งการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไปเช่น การลงทุนในหุ้นกู้จากหลายอุตสาหกรรม หรือการลงทุนในสินทรัพย์อื่นควบคู่กัน เช่น หุ้น กองทุนรวม หรือ พันธบัตรรัฐบาล เพื่อลดความสูญเสียของพอร์ตลงทุนหากหุ้นกู้ผิดนัดชำระ
4. ลงทุนผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้
นักลงทุนควรมองหาแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมในการลงทุนมีความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น โดยนักลงทุนควรเลือกแพลตฟอร์มที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
อินเวสทรี เป็น Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กลต. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงกับนักลงทุน มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ออกหุ้นกู้ บริหารจัดการการออกหุ้นกู้ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการชำระคืนค่าหุ้นกู้แก่นักลงทุน
อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้คราวฟันดิงจึงควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงนี้และควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่