หุ้นกู้ คืออะไร สรุปสาระสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ก่อนลงทุน
ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำเตี้ยเรี่ยดิน การเติบโตเงินออมจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ในการออม และ หุ้นกู้ จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้มักสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และ เป็นตามสัญญาจึงทำให้มีความชัดเจน ไม่ผันผวนในด้านผลตอบแทน
บทความนี้ มุ่งหวังที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับหุ้นกู้ที่นักลงทุนมักสงสัยเพื่อช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกหุ้นกู้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้
หุ้นกู้คืออะไร?
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ เช่น เพิ่มสภาพคล่อง หรือ ขยายธุรกิจ เป็นต้น บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) และ ระยะเวลาการกู้ยืมที่ชัดเจน (Maturity) เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัท นักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ย และ เมื่อครบกำหนดอายุหุ้นกู้ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะคืนเงินค่สหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน
เพราะฉนั้น เมื่อบริษัทออกหุ้นกู้ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะมีสถาณะเป็นลูกหนี้ และ เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัท นักลงทุนจะมีสถาณะเป็นเจ้าหนี้
ส่วนตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเรียกว่าพันธบัตร ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นกู้เพราะผู้ออกตราสารหนี้มีความมั่นคงและไม่น่าที่จะชำระคืนล่าช้าหรือเบี้ยวหนี้ ตัวอย่างพันธบัตรได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ พันธบัตรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
หุ้นกู้มีกี่ประเภท?
หุ้นกู้มีหลายประเภท สามารถแบ่งตามลักษณะของหุ้นกู้ได้หลักๆ ดังนี้
อายุหุ้นกู้
อายุของหุ้นกู้ซึ่งสามารถจัดแบ่งประเภทได้ดังนี้
-
หุ้นกู้ระยะสั้น (Short Term Bond or Short Term Debenture) มักมีอายุไม่เกินสามปี
-
หุ้นกู้ระยะกลาง (Medium Term Bond or Medium Term Debenture) มักมีอายุไม่เกินสิบปี
-
หุ้นกู้ระยะยาว (Long Term Bond or Long Term Debenture) มักมีอายุเกินสิบปี
-
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) คือหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน นักลงทุนสามารถถือครองได้ตลอดไปจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ
บริษัทผู้ออกหุ้นกู้
-
หุ้นกู้ (Corporate Bond หรือ Debenture) คือ หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัททั่วไป การลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงมากกว่าฝากเงินกับธนาคาร จึงมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีเงินฝากด้วยความเสี่ยงสูงกว่า
-
หากหุ้นกู้เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระ (ความเสี่ยงด้านเครดิต) เราจะเรียกว่า หุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง (High-Yield Corporate Bond หรือ High-Yield Debenture) หรือ Junk Bonds เพราะความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนของหุ้นกู้ชนิดนี้จึงสูงตามระดับความเสี่ยงที่สูงเช่นกัน
-
ตัวอย่างของ High-Yield Corporate Bond คือ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Bond) หุ้นกู้ชนิดนี้ออกโดยบริษัทขนาดเล็กกลาง (SMEs) ผ่าน Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
-
อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้
-
หุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-rate Bonds) คือ หุ้นกู้ที่ให้อัตราผลตอบแทนคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้ ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจหรืออัตราดอกเบี้ยสากลจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
-
หุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate Bonds) คือ หุ้นกู้ที่ให้อัตราผลตอบแทนอิงกับอัตราดอกเบี้ย ดัชนี หรือตัวชี้วัดอี่นๆ
การชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทนหุ้นกู้
-
หุ้นกู้ประเภทจ่ายคืนเพียงครั้งเดียว (Bullet Bonds) คือ หุ้นกู้ที่จะชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยพร้อมกันครั้งเดียว ณ วันที่ครบกำหนดไถ่ถอนตามสัญญา
-
หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืน (Amortizing Bonds) คือ หุ้นกู้ที่ที่จะชำระคืนเงินต้นควบคู่ไปกับการจ่ายดอกเบี้ย ตามกำหนดระยะเวลาของการลงทุนตามสัญญา
สิทธิเรียกร้องการชำระหนี้หุ้นกู้
-
หุ้นกู้มีหลักประกัน (Secured Bonds) คือ หุ้นกู้ที่บริษัทผู้ออกหุ้นกุ้ได้นำสินทรัพย์มาค้ำประกันในการออกหุ้นกู้ ในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด นักลงทุนมีสิทธิในสินทรัพย์ที่ค้ำประกันตามลำดับสิทธิและเงื่อนไขของหุ้นกู้นั้นๆ ตัวอย่างสินทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ ที่ดิน หรือ อาคาร
-
หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bonds) คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆเป็นหลักประกันในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด นักลงทุนมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้หลังเจ้าหนี้รายอื่นที่มีหลักประกัน โดยส่วนใหญ่ หุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่มีหลักประกันตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น
เงื่อนไขพิเศษ
-
หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bonds) คือ หุ้นกู้ที่สามารถเปลี่ยนเป็นหุ้นได้ในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนด หุ้นกู้แปลงสภาพมักมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นกู้อื่นๆ เพราะนักลงทุนมีโอกาสทำกำไรจากการเป็นเจ้าของหุ้นในอนาคต
-
หุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable Bonds) คือ หุ้นกู้ที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหรือเรียกคืนหุ้นกู้ พร้อมจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดสัญญาหุ้นกู้
-
หุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable Bonds) คือหุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่นักลงทุนในการขายหุ้นกู้คืนให้กับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ก่อนที่จะถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน
การลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงมั้ย?
การลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยง ซึ่งสามารถแบ่งเป็นหัวข้อหลัก ได้ดังนี้
-
ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit หรือ Default Risk) หรือ ความเสี่ยงที่บริษัทออกหุ้นกู้จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยและ/หรือเงินต้น จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนสามารถทำได้เพื่อประเมินความเสี่ยงคือการศึกษาข้อมูลบริษัท แนวโน้มธุรกิจ แนวโน้มตลาด วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ รวมถึงความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร ประกอบกับการดูอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน
-
อันดับความน่าเชื่อถือ คือ การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบุคคลหรือองค์กรโดยหน่วยงานที่เรียกว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
-
การจัดอันดับจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สถานะทางการเงิน ประวัติการชำระหนี้ ศักยภาพในการทำกำไร โครงสร้างธุรกิจ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
-
อันดับความน่าเชื่อถือมีสองประเภท ได้แก่ อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ และ อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้
-
ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือไม่ใช่ตัวบ่งชี้หรือชี้วัดที่สมบูรณ์ และ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์หรือสถานการ์ณที่สามารถส่งผลกระทบถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
-
-
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหุ้นกู้ (Liquidity Risk) พบได้ในหุ้นกู้บางประเภทที่ไม่มีตลาดรองรองรับ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง หรือ หุ้นกู้บางประเภทที่อาจไม่เป็นที่นิยมและไม่สามารถขายต่อได้ในตลาดรอง
-
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (interest Rate Risk) สามารถทำให้ราคาหุ้นกู้ลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีการปรับขึ้น เหตุกร์ณนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อนักลงทุนขายหุ้นกู้ในตลาดรองก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน
-
ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ (Inflation Risk) สามารถกัดกินผลตอบแทนที่แท้จริงของหุ้นกู้
หาข้อมูลหุ้นกู้ออกใหม่ได้ที่ไหน?
นักลงทุนสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ออกใหม่ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA
อยากเริ่มลงทุนในหุ้นกู้ ต้องทำอะไรบ้าง?
-
พิจารณาเป้าหมายการลงทุน ระยะเวลา ระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่ต้องการ
-
ศึกษาหุ้นกู้ที่สนใจ วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน สถานะธุรกิจ ความเสี่ยง ผลตอบแทน และ ความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้
-
เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกู้กับบริษัทหลักทรัพย์
-
หลังจากได้ซื้อหุ้นกู้แล้ว ติดตามการจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองมาตอบคำถามที่นักลงทุนควรตอบได้ก่อนตัดสินใจลงทุนให้หุ้นกู้
-
หุ้นกู้ที่สนใจเป็นหุ้นกู้ประเภทไหน?
-
ใครคือผู้ออกหุ้นกู้?
-
หุ้นกู้นี้มีอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่?
-
หุ้นกู้นี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
-
ผลตอบแทนของหุ้นกู้นี้เปรียบเทียบกับเงินฝากแล้วเป็นอย่างไร?
-
สามารถซื้อขายหุ้นกู้นี้ในตลาดรองได้หรือไม่?
-
ภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยของหุ้นกู้นี้เป็นอย่างไร?
-
หุ้นกู้ vs หุ้น อะไรมีความเสี่ยงมากกว่ากัน?
-
กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกู้ที่ดีคืออะไร?
-
มีข่าวอะไรใหม่เกี่ยวกับผู้ออกหุ้นกู้บ้าง?
สุดท้ายนี้ นักลงทุนควรศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบคอบก่อนลงทุนในหุ้นกู้เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และควรหมั่นตรวจสอบสถานะการดำเนินงานของบริษัทหรือองค์กรที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนและคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ลงทุนให้ได้มากที่สุด